Music Hit In your life

วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553

หลักการเลือกซื้ออุปกรณ์ระบบเครือข่าย

สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบเครือข่ายนั้นจะมีอยู่หลากหลายอุปกรณ์ด้วยกัน โดยที่อุปกรณ์ซึ่งใช้ในระบบเครือข่ายนั้นจะมีหน้าที่หลักคือ การทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการการรับ-ส่งข้อมูลบนระบบเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นการทวนสัญญาณของข้อมูล, การรับ-ส่งข้อมูลภายในระบบเครือข่าย รวมถึงการรับ-ส่งข้อมูลข้ามเครือข่าย ซึ่งอุปกรณ์ที่มีการใช้งานกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน ได้แก่ อุปกรณ์ Hub, Switch รวมถึงอุปกรณ์ Router เป็นต้น

ก่อนที่เราจะไปคุยกันถึงหลักการเลือกซื้ออุปกรณ์ระบบเครือข่ายเหล่านี้ ผมจะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทำงานของแต่ละอุปกรณ์กันอย่างคร่าวๆ ก่อน เพื่อจะได้เป็นการทราบถึงหน้าที่ของอุปกรณ์แต่ละตัวในเบื้องต้นกันครับ


อุปกรณ์ระบบเครือข่าย

อุปกรณ์ Hub:

อุปกรณ์ Hub นั้นมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Repeater มีการทำงานอยู่บน Layer 1 (Physical Layer) ของระบบเครือข่ายรูปแบบ OSI 7 Layer ซึ่งอุปกรณ์นี้จะมีหน้าที่ในการเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องให้เข้ากันเป็นกลุ่ม โดย Hub จะทำหน้าที่ในการรับ-ส่งข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากพอร์ตใดพอร์ตหนึ่งเพื่อส่งต่อไปยังทุกๆ พอร์ตที่เหลือบนตัวอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่เชื่อมต่ออยู่กับอุปกรณ์ Hub นั้นจะมีการทำงานในรูปแบบการแบ่งแบนด์วิดธ์ในระบบเครือข่ายในการใช้งาน (Bandwidth Sharing) ดังนั้นถ้าหากในตัวอุปกรณ์ Hub มีเครื่องคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อยิ่งมากเท่าใด ก็จะทำให้ Bandwidth ในการใช้งานต่อเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องนั้นยิ่งลดน้อยลง ในปัจจุบันมีผู้ผลิตอุปกรณ์ Hub จากหลากหลายบริษัทผลิตมาจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งจะมีลักษณะการทำงานโดยทั่วๆ ไปเหมือนกัน โดยข้อแตกต่างของอุปกรณ์ Hub เหล่านี้ก็จะเป็นในเรื่องของประเภทจำนวนพอร์ตในการเชื่อมต่อ, ชนิดของพอร์ตที่จะใช้เชื่อมต่อกับสายสัญญาณ (แบบสายทองแดง UTP, แบบสาย Fiber Optic เป็นต้น) รวมถึงอัตราความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล เช่น แบบ 10 Mbps หรือแบบ 10/100 Mbps ซึ่งสามารถรับ-ส่งข้อมูลได้ทั้งความเร็วที่ 10 Mbps และ 100 Mbps เป็นต้น ทั้งนี้การที่อุปกรณ์สามารถที่จะทำงานได้ที่อัตราความเร็วมากกว่า 1 ระดับนั้น เนื่องมาจากการที่อุปกรณ์นั้นๆ มีรูปแบบการทำงานที่มีความสามารถในการตรวจสอบได้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ระบบเครือข่ายอื่นๆ ที่มาเชื่อมต่อกับตัวมันนั้นมีความสารถในการรับ-ส่งข้อมูลได้ในความเร็วที่มากสุดเท่าใด และอุปกรณ์ทั้งสองที่เชื่อมต่อกันก็จะเลือกใช้อัตราการรับ-ส่งข้อมูลสูงสุดที่สามารถรองรับได้ โดยที่เราจะเรียกลักษณะการตรวจสอบแบบนี้ว่าการทำงานแบบ Auto-Negotiation ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอุปกรณ์ระบบเครือข่ายในท้องตลาดปัจจุบันก็จะมีความสามารถในการทำงานแบบ Auto-Negotiation อยู่ในตัว



สำหรับการทำงานของอุปกรณ์ Hub ในกรณีที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ระบบเครือข่ายอื่นหลายๆ ตัวเชื่อมต่ออยู่ และแต่ละอุปกรณ์มีการรับ-ส่งข้อมูลที่ความเร็วแตกต่างกัน Hub จะมีการทำงานโดยจะเลือกการทำงานที่อัตราการรรับ-ส่งข้อมูลที่ต่ำที่สุด ซึ่งจะแตกต่างจากอุปกรณ์ Switch ที่เราจะได้พูดถึงต่อไป


อุปกรณ์ Switch:

อุปกรณ์ Switch เป็นอุปกรณ์ที่มีการทำงานอยู่บน Layer 2 (Data Link Layer) ของระบบเครือข่ายรูปแบบ OSI 7 Layer เราสามารถเรียกอุปกรณ์ Switch ได้อีกว่าเป็นอุปกรณ์ Switching Hub หรือ Bridge



อุปกรณ์ Switch จะมีความสามารถในการทำงานมากกว่า Hub โดยที่อุปกรณ์ Switch จะทำงานในการรับ-ส่งข้อมูลที่สามารถส่งข้อมูลจากพอร์ตหนึ่งของอุปกรณ์ไปยังเฉพาะพอร์ตปลายทางที่เชื่อมต่ออยู่กับอุปกรณ์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต้องการส่งข้อมูลไปหาเท่านั้น ซึ่งจากหลักการทำงานในลักษณะนี้ทำให้พอร์ตที่เหลือของอุปกรณ์ Switch ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรับ-ส่งข้อมูลนั้นสามารถทำการรับ-ส่งข้อมูลกันได้พร้อมกันในเวลาเดียวกัน นั่นจะทำให้อุปกรณ์ Switch มีการทำงานในแบบที่ Bandwidth ที่ใช้ในการรับ-ส่งข้อมูลจะไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนของคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่ออยู่กับ Switch

จากการทำงานของ Switch ในลักษณะนี้ จะเห็นได้ว่าคอมพิวเตอร์ทุกๆ เครื่องที่เชื่อมต่ออยู่จะมี Bandwidth ที่มีค่าเท่ากับค่า Bandwidth ของอุปกรณ์ Switch ด้วยเหตุนี้ทำให้ในปัจจุบันอุปกรณ์ Switch จะได้รับความนิยมในการนำมาใช้งานในระบบเครือข่ายมากกว่าอุปกรณ์ Hub


อุปกรณ์ Layer 3 Switch:



จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่าอุปกรณ์ Switch นั้นจะมีการทำงานอยู่บน Layer 2 ของระบบ OSI 7 Layer แต่ก็จะยังมีอุปกรณ์ Switch อีกรูปแบบหนึ่งที่มีความสามารถของการทำงานเพิ่มขึ้น โดยรองรับการทำงานอยู่บน Layer 3 (Network Layer) ของ OSI Model ได้ ซึ่งโดยปกติแล้วอุปกรณ์ที่ทำงานอยู่ Layer 3 นี้จริงๆ จะเป็นอุปกรณ์ Router เป็นหลัก ข้อแตกต่างระหว่างอุปกรณ์ Layer 3 Switch กับ Router ก็คือ อุปกรณ์ Layer 3 Switch นั้นจะสามารถทำงานได้ทั้งบน Layer 2 และ Layer 3 และอุปกรณ์ Layer 3 Switch จะผลิตขึ้นมาภายใต้พื้นฐานของเทคโนโลยี ASIC (Application Specific Integrated Circuit) แต่อุปกรณ์ Router ส่วนใหญ่นั้นจะผลิตขึ้นมาโดยมี RISC Processor คอยควบคุมในเรื่องของการประมวลผล และจะต้องมีซอฟต์แวร์ที่เข้ามาควบคุมการทำงานอีกทีหนึ่ง ซึ่งทำให้การทำงานของอุปกรณ์ Layer 3 Switch นั้นจะรวดเร็วกว่า Router เป็นอย่างมาก


อุปกรณ์ Router:

ดังที่กล่าวเบื้องต้นไปแล้วว่าอุปกรณ์ Router นั้นจะมีการทำงานอยู่บน Layer 3 ของ OSI 7 Layer Model ซึ่งเป็น Layer ที่เป็นการทำงานเกี่ยวกับเครือข่ายเป็นหลัก ซึ่งทำให้ Router นั้นจะมีหน้าที่หลักในการรับ-ส่งข้อมูลข้ามกันระหว่างเครือข่ายต่างเครือข่ายกัน ซึ่งอุปกรณ์ Router นั้นจะทำงานโดยการอ้างอิงค่า Address เป็นหลัก โดย Router จะอ่านค่าของ Address ปลายทางของข้อมูลนั้นๆ หลังจากนั้นจะทำการคำนวณเพื่อเลือกเส้นทางที่จะส่งข้อมูลนั้นไปยังปลายทางต่อไป โดยที่วิธีในการเลือกเส้นทางในการรับ-ส่งข้อมูลของ Router นั้น Router จะใช้ Routing Protocol เป็นตัวที่คอยกำหนดวิธีในการรับ-ส่งข้อมูล ซึ่ง Routing Protocol นั้นจะมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น IP (Internet Protocol), IPX (Internet Package Exchange) หรือ AppleTalk เป็นต้น โดย Router นั้นจะมีข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเส้นทางในการรับ-ส่งข้อมูล หรือที่เรียกว่า Routing Table เป็นตัวช่วยให้ Router ใช้ในการเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดในการส่งข้อมูลไปยังปลายทาง



โดยปกติแล้วในการใช้งานอุปกรณ์ Router ในปัจจุบันนั้น เรานิยมที่จะใช้ในการเชื่อมต่อกันระหว่างระบบเครือข่ายตั้งแต่ 2 เครือข่ายขึ้นไป นอกจากนี้ยังสามารถใช้ Router ในการเชื่อมต่อระบบเครือข่าย WAN และยังสามารถเชื่อมต่อ Router ตรงเข้ากับระบบ Internet ได้อีกด้วย


การเลือกซื้ออุปกรณ์ระบบเครือข่าย

การเลือกซื้ออุปกรณ์ระบบเครือข่ายนั้น โดยหลักๆ แล้วจะไม่แตกต่างกันมากนักในแต่ละอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ Hub, Switch หรือ Router สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงเลยก็คือ ความยากง่ายในการจัดการและดูแลตัวอุปกรณ์เอง สำหรับระบบเครือข่ายที่มีขนาดกลาง อาจจะมีความต้องการในการดูแลและจัดการกับระบบเครือข่ายจากระยะไกล หรือที่เรียกว่า Remote Management ซึ่งการดูแลจัดการแบบนี้อุปกรณ์ระบบเครือข่ายทุกๆ อุปกรณ์จะสามารถที่จะติดต่อสื่อสารกับอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดการดูแล โดยผ่านการใช้งานโปรโตคอลแบบ SNMP (Simple Network Management Protocol) และโปรโตคอล RMON (Remote Monitoring Protocol)

ในส่วนของระบบเครือข่ายที่มีขนาดใหญ่นั้น ส่วนมากมักจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มาทำหน้าที่ในการดูแลระบบเครือข่าย (Network Monitoring) โดยเฉพาะ สำหรับการดูแลระบบเครือข่ายนั้นก็มีหลายรูปแบบ เช่น การตรวจสอบสถานะการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบเครือข่ายว่ายังทำงานได้ดีหรือไม่, ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของระบบเครือข่าย (Network Utilization) รวมถึงการแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ดูแลระบบเครือข่ายในกรณีที่มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในระบบเครือข่าย เป็นต้น

โดยปกติทั่วไปแล้วอุปกรณ์ Layer 3 Switch และ Router นั้นจะมีความสามารถในการรองรับการทำงานกับโปรโตคอล SNMP อยู่แล้ว แต่ในส่วนของอุปกรณ์ Hub และ Switch นั้นจะแตกต่างออกไป โดยที่ Hub กับ Switch นั้นจะมีทั้งแบบที่รองรับการทำงานกับโปรโตคอล SNMP ซึ่งเราเรียกว่าแบบ Manageable และแบบที่ไม่สามารถดูแลจัดการอะไรกับตัวอุปกรณ์ได้เลย ซึ่งเรียกว่าแบบ Unmanaged หรือ Plug-and-Play ซึ่งในกรณีที่ระบบเครือข่ายนั้นๆ เป็นระบบที่ค่อนข้างเล็กและไม่มีความจำเป็นที่จะใช้งานในลักษณะ Remote Management ก็ควรจะเลือกซื้ออุปกรณ์ Hub หรือ Switch ในแบบ Unmanaged ที่มีราคาที่ถูกกว่าแบบ Manageable ซึ่งจะทำให้เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้พอสมควร เพราะว่าถ้าหากเลือกซื้อในแบบ Manageable มาแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของตัวอุปกรณ์ ก็จะเป็นการใช้งานอุปกรณ์ที่ไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป แต่ถ้าหากเป็นระบบเครือข่ายที่ค่อนข้างใหญ่ และมีการใช้การทำงานแบบ Remote Management ก็ควรเลือกซื้ออุปกรณ์ในแบบ Manageable เพราะจะเป็นการง่ายต่อการจัดการดูแล, การตรวจสอบประสิทธิภาพในการทำงานในระบบเครือข่าย รวมถึงการแจ้งเตือนและค้นหาสาเหตุได้อย่างง่ายในกรณีที่ระบบเครือข่ายเกิดความผิดปกติขึ้น


ที่มา :
หลักการเลือกซื้ออุปกรณ์ระบบเครือข่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น