ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่จัตุรัสจามจุรี โครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของโครงการแผนพัฒนาวิชาการ จุฬาฯ และ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพคณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯจัดแถลงข่าวแถลงข่าวเปิดนิทรรศการ “การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Discovery of New species by Chulalongkorn University)” พร้อมโชว์ 25 สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ที่ค้นพบเป็นครั้งแรกของโลกในประเทศไทย ผลงานนักวิจัยจุฬาฯ ซึ่งมีรศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดี จุฬาฯ เป็นประธานเปิดงาน
ด้าน รศ.จริยา เล็กประยูร หัวหน้าโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์วิทาศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การจัดนิทรรศการครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการรวบรวมสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่พบในประเทศไทย โดยมีทั้งหมด 25 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์ 23 ชนิด ได้แก่ ทากดูดเลือดลายจุดเขาใหญ่ ทากดูดเลือดลายโซ่สีตอง ไรขนประคำไทย ไรหลังโล่จารณศรี ไรพหุนัยน์ไทย ไรเปลือกแข็งขนทรงไข่ ไรเปลือกแข็งขนพวง กิ้งกือมังกรสีชมพู ตะเข็บน้อยเอนฮอฟ ตะเข็บน้อยหนังช้าง ตะเข็บน้อยปีกเรียวเล็ก ตะเข็งน้อยปีกกว้าง กิ้งกือกระบอกเมืองฉอด แตนเบียนหนวดยาวเฟลิเซีย แตนเบียนหนวดยาวสุพจน์ แตนเบียนหนวดยาวเหลือง แตนเบียนหนวดยาวขาขาว แตนเบียนหนวดยาวบัลทาซ่า แตนเบียนหนวดยาวมอลเลย์ หอยนักล่าเกลียวเชือก หอยต้นไม้ลายจุด กบห้วยขาปุ่มจารุจินต์ และกบห้วยขาปุ่มเทเลอร์
ส่วน พืช 2 ชนิด ได้แก่ โฮย่าบาลา หญ้าข้าวป่าไทย ซึ่งสัตว์บางตัวได้เคยเปิดเผยและเป็นที่รู้จักทั่วโลกมาแล้ว เช่น กิ้งกือมังกรสีชมพู แต่ขณะเดียวกัน ก็ได้พบสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยมาก่อน เช่น ทากดูดเลือดลายจุดเขาใหญ่ ไรอะดามิสทิสไทย ตะเข็บน้อยหนังช้าง แตนเบียนหนวดยาวฟาลิเซีย หอยต้นไม้ลายจุด กบห้วยขาปุ่มจารุจินต์ โฮย่าบาลา หญ้าข้าวป่าไทย เป็นต้น จัดแสดงเพื่อโชว์ศักยภาพของนักวิจัยจุฬาฯ พร้อมเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศที่นักวิจัยพืชและสัตว์ให้ความสนใจ เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างมาก อันเป็นการบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ที่สร้างสรรค์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต อันเป็นประโยชน์ต่อการค้นคว้าวิจัย
ทั้งนี้ ปี พ.ศ. 2553 หรือปี ค.ศ. 2010 เป็นปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Year of Biodiversity) นิทรรศการดังกล่าวจึงเป็นการให้ความรู้ทางด้านอนุกรมวิธาน การค้นพบและบทบาทที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต สปีชีส์ใหม่หรือชนิดใหม่ เพื่อให้บริการความรู้ทางด้านนี้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ ให้เข้าใจถึงความสำคัญและบทบาทของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา
รศ.จริยา กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นคณะกรรมการดำเนินงานจึงได้ร่วมกันจัดทำหนังสือ “ปีแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ 2553: การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานของคณาจารย์และนิสิตภาควิชาชีววิทยาในการค้นพบสัตว์สปีชีส์ใหม่ ๆ ที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิจัยระดับนานาชาติซึ่งเป็นที่ยอมรับ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญไว้เป็นหลักฐานในการค้นคว้าที่สำคัญสำหรับนักศึกษาและนักวิจัยคนไทยต่อไป อย่างไรก็ตาม อยากเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ หรือผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมนิทรรศการดังกล่าว เพราะนอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆในการเข้าชม
ที่มา คมชัดลึก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น