Music Hit In your life

วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

‘ขุนช้างขุนแผน’ ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว


สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า วรรณกรรมไทยเรื่อง ‘ขุนช้างขุนแผน’ ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกแล้ว โดยศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์ชาวไทย และนายคริส เบเกอร์

เรื่องขุนช้างขุนแผน มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาและเล่ากันต่อ ๆ มาจนกระทั่งมีผู้นำเรื่องขุนช้างขุนแผนมาแต่งเป็นกลอนเสภาเพื่อใช้ในการขับเสภา จึงทำให้เรื่องนี้เป็นที่นิยมและแพร่หลายมากขึ้น

บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน บางตอนกล่าวถึงพระมหากษัตริย์บ้าง แต่มิได้ต้องการแสดงถึงเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ นับได้ว่าเป็นเรื่องราวของคนไทยแท้ ๆ โดยมิได้ดัดแปลงจากวรรณกรรมของชาติอื่น

ตัวละครในเรื่องมีชีวิตจิตใจราวกับคนจริงๆ ที่มีชีวิตอย่างคนธรรมดาซึ่งมีทั้งทุกข์และสุข ความสมหวัง และความผิดหวัง แก่นสำคัญของเรื่องกล่าวถึงรักสามเส้าของขุนแผน ขุนช้าง และนางพิมหรือนางวันทอง

ส่วนผู้แต่งพบว่ามีหลายคน เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่ ครูแจ้ง และยังไม่ทราบนามผู้แต่งบทเก่าอีกหลายตอน และมีการนำบางส่วนไปใช้ในการประกอบบทเรียนการศึกษา รายการทางโทรทัศน์ โดยในฉบับที่ได้รับการพิมพ์ในภาษาอังกฤษนี้ มีการจัดพิมพ์เป็น 2เล่ม รวมทั้งสิ้น 1,000หน้า

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง หนึ่งในผู้แปล กล่าวว่า "นี่เป็นเรื่องราวของคำมั่นสัญญาของผู้หญิงคนหนึ่งในยุคที่เต็มไปด้วยสงคราม และผู้ชายมีพลังอำนาจเหนือทุกสิ่ง" ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก ชีวิตของประชาชนในชนบทค่อยๆพัฒนาไปเรื่อยๆ บางทีมันอาจจะมากกว่าที่ชนในชั้นปกครองกล้าที่จะยอมรับ

ขณะที่นายคริส เบเกอร์ ผู้แปลอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า การแปลครั้งนี้ ไม่มีแรงกระตุ้นทางการเมืองใดๆอยู่เบื้องหลัง แม้ว่าส่วนประกอบต่างๆ ของเรื่อง จะสะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจโดยตรง ‘ผมคิดว่าวิธีที่เราจะเข้าใจถึงวรรณกรรมเรื่องนี้ ประกอบด้วยแกนหลักสองประการ คือ ตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงในสังคมที่เป็นตัวช่วยส่งเสริมอำนาจให้กับเพศชาย และคนตัวเล็กๆที่หาญกล้าต่อกรกับเงินตราและอำนาจ ซึ่งถูกวางทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ ในสังคม’

Source : matichon/rakbankerd.com (Image)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น