Music Hit In your life

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ไทยเสี่ยงเสียวงโคจรดาวเทียม 50.5E ท่ามกลางศึกแย่งชิงจาก 4 ชาติ

 เตือนกระทรวงไอซีที พึงตระหนักว่ามีความเสี่ยงสูงที่ไทยจะเสียตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 50.5 องศาตะวันออก หลังไทยคม 2 ที่หมดอายุถูกลากเข้าไปในตำแหน่งนี้เพียง 17 วัน ด้วยความเชื่อว่าระยะเวลาแค่นั้น จะยังทำให้ไทยได้สิทธิ์ในวงโคจรต่ออีก 2 ปี ท่ามกลาง 4 ชาติที่จ้องวงโคจรนี้ตาเป็นมัน
         แหล่งข่าวในธุรกิจดาวเทียมสื่อสารกล่าวว่า มีเหตุผลอย่างน้อย 5 ประการที่ทำให้ไทยถูกแย่งชิงสิทธิ์ในการใช้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 50.5 องศาตะวันออก (50.5E) คือ


  1. การแจ้งเอกสารที่ไม่ถูกต้องของอินเทลแซท ว่าเป็นการใช้ในนามประเทศไทย 
  2. การแจ้งเอกสารที่ไม่ถูกต้องเรื่องการใช้วงโคจร 50.25E ในกระบวนการทำให้การใช้วงโคจร 50.5E ถูกกฎหมาย 
  3. การปล่อยให้วงโคจรว่างลงในเดือนเมษายน 2008 แต่แจ้งแก่ ITU ว่าเป็นเดือนพ.ย. 2009 
  4. การทำให้วงโคจรไม่ถูกใช้งานนานกว่า 2 ปี และ
  5. การใช้งานวงโคจรเพียง 17 วัน ซึ่งเป็นเวลาแสนสั้นในการเริ่มต้นเงื่อนไข 2 ปี ใหม่

        ตามข้อบังคับของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ระบุว่าวงโคจรดาวเทียมเป็นสมบัติของชาติประเทศเอกราชเท่านั้น ซึ่งในเดือนมีนาคม 1994 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนและยื่นขอสิทธิ์จาก ITU ในการใช้พื้นที่วงโคจรหลายจุด รวมถึง 50.5E ซึ่งเคยถูกใช้กับดาวเทียมไทยคม 3 มาก่อน

         ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2006 ดาวเทียมไทยคม 3 ถูกปลดระวาง และเคลื่อนย้ายออกจากวงโคจร 50.5E เนื่องจากความล้มเหลวในการกระจายสัญญาณ ต่อมาวงโคจร 50.5E ถูกระบุว่าใช้งานโดยดาวเทียมของอินเทลแซท (Intelsat) ภายใต้ข้อตกลงจนถึงเดือนเมษายน 2008 แต่วงโคจรนี้ถูกใช้อย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากอินเทลแซทใช้พื้นที่วงโคจรที่ 50.25E การเปิดเผยเรื่องนี้ทำให้วงโคจรนี้เกิดปัญหาขึ้น
              ภายใต้ข้อบังคับของ ITU ระบุว่าเมื่อใดที่ตำแหน่งวงโคจรไม่ถูกใช้งาน ประเทศดังกล่าวมีสิทธิ์ 2 ปีในการส่งดาวเทียมกลับสู่วงโคจรเดิม หรือไม่ก็เสียสิทธิ์ให้แก่ประเทศถัดไปที่รอต่อคิวใช้ตำแหน่งวงโคจร ซึ่งปัจจุบัน หลายประเทศต่างยื่นเอกสารขอสิทธิ์จาก ITU และรอต่อคิวใช้งานตำแหน่งวงโคจรทุกจุด
         ปัจจุบัน สิทธิ์ในการใช้วงโคจร 50.5E ยังคงเป็นของประเทศไทย แต่กำลังเสี่ยงในการถูกแย่งชิงไปโดยประเทศสมาชิก ITU หลังจากที่อินเทลแซทเคลื่อนย้ายดาวเทียมออกจากวงโคจร 50.25E ในเดือนเมษายน 2008 ประเทศไทยได้รอเวลาจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2009 จึงแจ้งให้ ITU ทราบว่าตำแหน่งวงโคจรไม่ได้ถูกใช้งาน
          ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเปิดช่องให้การครอบครองสิทธิ์ในการใช้งานวงโคจร 50.5E ของประเทศไทยมีอุปสรรคมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการแจ้งกับ ITU นั้นไม่ตรงกับช่วงการใช้งานวงโคจรที่แท้จริง
         แหล่งข่าวกล่าวว่า ไทยคมได้เคลื่อนย้ายดาวเทียมไทยคม 2 จากวงโคจร 78.5E มาเป็นตำแหน่ง 50.5E โดยอ้างว่าเมื่อดาวเทียมปฏิบัติการย้ายตำแหน่งกลับไปยังตำแหน่งวงโคจรเดิม สิทธิ์ในการถือครองวงโคจรของประเทศไทยจะถูกปกป้องไว้ แต่เนื่องจาก ไทยคม 2 เป็นดาวเทียมดวงเดียวในวงโคจร 50.5E ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2010 ถึง 28 ตุลาคม 2010 (17 วัน) โดยไทยประกาศว่าตำแหน่งวงโคจรดังกล่าวถูกนำกลับมาใช้งาน และแจ้งแก่ ITU ว่าประเทศไทยมีดาวเทียมปฏิบัติการที่วงโคจร 50.5E
         แต่ขณะนี้ ไทยคมได้แจ้งแก่ ITU ว่าวงโคจรดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว และต้องการเวลาอีก 2 ปีก่อนที่บริษัทจะตัดสินใจใช้ตำแหน่งวงโคจรหรือสละสิทธิ์ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้มีแนวโน้มว่าจะไม่มีประเทศใดที่เห็นชอบด้วย เนื่องจากเวลาเพียง 17 วันไม่เพียงพอต่อการยืนยันด้วยเหตุผล ว่าไทยคม "กำลังใช้งาน" วงโคจรที่ได้ยื่นเอกสารต่อ ITU ฉบับดั้งเดิม แถมในขณะนี้ ดาวเทียมไทยคม 2 นั้นไม่ได้อยู่ที่วงโคจร 50.5E ด้วย แต่ไถลไปทางตะวันตก 2.5 องศาต่อวัน เหมือนว่าดาวเทียมไม่สามารถควบคุมได้
         แหล่งข่าวกล่าวว่า ถึงตอนนี้ ประเทศไทยมีวงโคจรดาวเทียมเพียง 3 ตำแหน่ง การสูญเสีย 50.5E ไป 1 ตำแหน่ง ทั้งที่เป็นตำแหน่งที่ครอบคลุมพื้นที่การส่งสัญญาณดีที่สุด จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียสิทธิ์ในการใช้วงโคจรถึง 33% ถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติในห้วงอวกาศของประเทศ
         นอกจากนี้ในปัจจุบันมี 4 ประเทศ คือ รัสเซีย จีน ตุรกี และเกาะ Mauritius ในมหาสมุทรอินเดียที่แสดงความสนใจและได้ยื่นขอสิทธิ์ในการใช้วงโคจร 50.5E ด้วยบุริมสิทธิ์ที่ด้อยกว่าประเทศไทย แต่หากไทยสูญเสียสิทธิ์ในการใช้วงโคจร ประเทศเหล่านี้จะมีสิทธิ์ใช้งานวงโคจรได้ก่อน 4 ปี
          "ตำแหน่งวงโคจรที่ 50.5E เป็นตำแหน่งดาวเทียมที่ไทยขอใช้จาก ITU แต่ไม่เคยยิงดาวเทียมขึ้นมาใช้วงโคจรนี้เลย หากไทยยังปล่อยให้ตำแหน่งนี้ว่างอยู่จนสิ้นปีนี้ ITU จะยึดวงโคจรนี้คืน ซึ่งตำแหน่งนี้จะอยู่ในจุดที่มีรัศมีครอบคลุมตั้งแต่ประเทศไทย ตะวันออกกลางและแอฟริกา"



ที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น