Music Hit In your life

วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นอย่างไร?

ลักษณะของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นบทเรียนที่ประยุกต์จากบทเรียนโปรแกรมของ B.F.Skinner โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์นำเสนอบทเรียน ซึ่งมีลักษณะเป็นโมเดล 2 แบบ คือ ( บูรณะ สมชัย . 2538: 26-27 )
1. แบบเชิงเส้น (Linear Programming) เป็นบทเรียนที่ได้รับการออกแบบให้ผู้เรียนได้เรียน เนื้อหาเรียนตั้งแต่ต้นจนจบเหมือนกันหมดทุกคน โดยเนื้อหาจะแบ่งออกเป็นกรอบ (Frame) เรียงตามลำดับ ตั้งแต่ต้นจนจบบทเรียน เพื่อให้ผู้เรียนก้าวไปทีละขั้นตอนจากง่ายไปหายาก

2. แบบไม่เชิงเส้นหรือแบบสาขา(Branching Programming) เป็นบทเรียนที่ได้รับการออกแบบให้เนื้อหามีกรอบแยกออกไป ไม่เรียงเป็นเส้นตรง ดังนั้นผู้เรียนแต่ละคนจะไม่ได้เรียนเนื้อหาตามลำดับที่เหมือนกันอย่างเช่น บทเรียนแบบเชิงเส้นโดยผู้เรียนจะเลือกทางเดินตามระดับความรู้ และความเข้าใจของตนเอง ผู้เรียนบางคนอาจข้ามกรอบบางกรอบ ในขณะที่บางคนอาจต้องศึกษาคำอธิบายเพิ่มเติมหรือย้อนกลับไปศึกษาเนื้อหาที่ผ่านมา


ประเภทของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่มีผู้ออกแบบและสร้างขึ้น เพื่อใช้ช่วยในการเรียนการสอนมีรูปแบบที่แตกต่างขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้บทเรียน มีนักการศึกษาหลายท่านได้จำแนกประเภทของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไว้ ดังนี้
พรเทพ เมืองแมน.(2544: 9-10) ; บูรณะ สมชัย.(2538:28-32) ได้จำแนกลักษณะของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่นิยมกันมากได้ 7 ลักษณะ ดังนี้
1. บทเรียนแบบเสนอเนื้อหา (Tutorial)
2. บทเรียนแบบฝึกหัด (Drill and Practice)
3. บทเรียนแบบสถานการณ์จำลอง (Simulation)
4. เกมเพื่อการเรียนการสอน (Instructional Games)
5. บทเรียนแบบทดสอบ (Test)
6. การแก้ปัญหา (Problem Solving)
7. บทเรียนแบบผสมผสาน

1. บทเรียนแบบเสนอเนื้อหา (Tutorial) เป็นลักษณะของการใช้สอนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์หรือความคิดรวบยอด (concept) ของเนื้อหาในรายวิชาต่างๆโดยคอมพิวเตอร์จะเสนอบทเรียนและทดสอบด้วยคำถามแบบต่างๆแล้วบันทึกคำตอบเพื่อประเมินผลเก็บไว้ จากนั้นจะเสนอเนื้อหาในบทเรียนต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับคำตอบของนักเรียนว่ามีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่สอนมากน้อยเพียงใด ข้อดีของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในลักษณะนี้ก็คือ ผู้เรียนสามารถเลือกเรื่องที่จะเรียนได้ตามถนัดตามความสามารถของตนเพราะลักษณะของบทเรียนจะออกแบบไว้ให้แยกเข้าออกจากเนื้อหาตอนต่างๆได้ตามต้องการ
2. บทเรียนแบบฝึกหัดและทักษะ (Drill and Practice) เป็นลักษณะของการฝึกหัด ทบทวน บทเรียนที่ผ่านมาแล้วหรือเพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะเรื่อง โดยให้คอมพิวเตอร์เสนอบทเรียนในรูปแบบฝึกหัดหรือโจทย์ทีละข้อ เปรียบเทียบคำตอบของนักเรียนกับคำตอบที่ถูกต้อง ซึ่งคอมพิวเตอร์จะบันทึกจำนวนคำถามหรือโจทย์ที่เสนอให้นักเรียนตอบ และจำนวนคำตอบที่ถูกไว้เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดบทเรียนให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของนักเรียนแต่ละคน
3. บทเรียนแบบสถานการณ์จำลอง (Simulation) จัดว่าเป็นบทเรียนที่กระตุ้นความสนใจของนักเรียนได้ม่กที่สุด เพราะเป็นการจำลองสถานการณ์จริงให้นักเรียนได้ศึกษาอย่างใกล้ชิด เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ทักษะในการตัดสินใจแบบต่างๆและเห็นผลของการตัดสินใจนั้นได้ทันที จุดประสงค์ของการใช้สถานการณ์จำลอง ก็เพื่อช่วยให้นักเรียนได้สร้างรูปแบบการตอบสนองที่เป็นประโยชน์กับเหตุการณ์จริงของโลกและเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทดสอบเหตุการณ์ต่างๆอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
4. เกมเพื่อการเรียนการสอน (Instructional Games) เป็นการนำแนวคิดของการแข่งขันมาใช้ในการเรียนการสอน ทำให้เกิดความท้าทาย อยากเอาชนะ ซึ่งลักษณะเหล่านี้จะดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้มาก
5. บทเรียนแบบทดสอบ (Test) เป็นการใช้คอมพิวเตอร์สำหรับทดสอบการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งก่อนเรียน ระหว่างเรียนและหลังเรียน การประเมินผลก่อนเรียนหรือระหว่างเรียนเพื่อจะดูความพร้อมของผู้เรียนวัดระดับความสามารถของผู้เรียน เพื่อจัดสภาพการเรียนและการใช้สื่อให้เหมาะสม วินิจฉัยและค้นหาข้อบกพร่องของผู้เรียนว่ายังต้องซ่อมเสริมความรู้ในเนื้อหาใด ส่วนการทดสอบและการประเมินผลหลังเรียน เพื่อสรุปการตัดสินผ่านหรือไม่ผ่านตามเกณฑ์ของบทเรียน โดยผู้สร้างจะต้องให้ความสำคัญของขั้นตอนการสร้างข้อสอบการจัดเก็บข้อสอบ การตรวจให้คะแนน การวิเคราะห์ข้อสอบ การสร้างคลังข้อสอบและการจัดให้ผู้เรียนสุ่มเลือกข้อสอบเองได้
6. การแก้ปัญหา (Problem Solving) เป็นการนำคอมพิวเตอร์ไปสอนการฝึกแก้ปัญหา โดยการกำหนดสภาพปัญหาและบอกเงื่อนไขต่างๆให้ แล้วผู้เรียนใช้ความรู้ กฏเกณฑ์ หลักการต่างๆประมวลเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในบางครั้งมีลักษณะของเกมและการจำลองสถานการณ์รวมอยู่ด้วย
7. บทเรียนแบบผสมผสาน เป็นบทเรียนที่รวมเอาลักษณะการนำเสนอเนื้อหาแก่ผู้เรียนตั้งแต่ 2 ลักษณะขึ้นไปมารวมกัน และให้ความสำคัญในลักษณะนั้นๆไม่แตกต่างกัน บทเรียนลักษณะนี้มีความหลากหลายในรูปแบบการนำเสนอเนื้อหา ความรู้ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ลักษณะและระดับความรู้ของผู้เรียน การผสมผสานบทเรียนในหลายลักษณะมารวมกัน เป็นวิธีการที่ทำให้บทเรียนสนองต่อความแตกต่างระหว่างบุคคลในเรื่องการรับรู้และการเรียนรู้ บทเรียนที่ดีต้องสามารถวิเคราะห์ผู้เรียนและเสนอเนื้อหาให้สอดคล้องกับผู้เรียนลักษณะนี้ทำได้ยาก เพราะผู้พัฒนาจะต้องวิเคราะห์ ออกแบบเนื้อหาและวิธีการสอนในหลายๆลักษณะในเรื่องเดียวกัน
.
.
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น