Music Hit In your life

วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552

พื้นฐานการใช้งานอินเตอร์เน็ต

อินเตอร์เน็ต (Internet) เป็นกลุ่มเครือข่ายทางคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ย่อยที่ต่อเชื่อมเข้าด้วยกันภายใต้มาตรฐานการสื่อสารเดียวกัน ผู้เป็นสมาชิกในอินเตอร์เน็ตจะมีที่อยู่อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Mail Address) เพื่อรับส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์(Electronic Mail) กับสมาชิกอื่นได้ทั่วโลก หรือติดต่อโต้ตอบกันผ่านทางคอมพิวเตอร์โดยตรงได้ นอกจากนี้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตยังสามารถอ่านข่าวจากกระดานข่าวเครือข่ายที่มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตส่งมาจากทั่วโลก การขอถ่ายโอนข้อมูลจากศูนย์บริการเครือข่าย และการค้นหาข้อมูลจากเครือข่ายเป็นต้น

ความเป็นมาของระบบอินเตอร์เน็ต
อินเตอร์เน็ตเป็นเครือข่ายที่มีการพัฒนามาจาก อาร์พาเน็ต (ARPAnet) ซึ่งเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายใต้ความรับผิดชอบของ หน่วยงานโครงการวิจัยขั้นสูง (Advance Research Projects Agency) หรือที่เรียกย่อกันว่า อาร์พา (ARPA) ในสังกัดกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา (Department of Defense) อาร์พาเน็ตในขั้นต้นเป็นเพียงเครือข่ายทดลองที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านการทหาร และโดยแท้จริงแล้วอาร์พาเน็ตเป็นเครือข่ายเพื่อป้องกันการทำลายการสื่อสารทางคอมพิวเตอร์ เช่น ถ้าคอมพิวเตอร์จุดใดจุดหนึ่งถูกระเบิดทำลาย คอมพิวเตอร์ส่วนอื่นสามารถหาเส้นทางการติดต่อใหม่ได้

ยุคของ TCP/IP
มาตรฐานในการสื่อสาร หรือโพรโตคอล (protocol) ที่ใช้ในระยะต้นของอาร์พาเน็ตเป็นโพรโตคอลที่เรียกว่า NCP (Network Control Protocol) ซึ่งเป็นโพรโตคอลที่เชื่อมต่อระหว่างโฮสต์กับโฮสต์ (Host-to-host protocol) โพรโตคอลนี้มีข้อจำกัดด้านจำนวนโฮสต์ที่จะต่อเชื่อมเข้าด้วยกัน
อาร์พาได้วางแผนการขยายเครือข่ายและเปิดการเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอื่น การเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายกับเครือข่ายต้องการโพรโตคอลซึ่งทำงานได้กับสายสื่อสาร และฮาร์ดแวร์หลากรูปแบบและสามารถรองรับโฮสต์จำนวนมากได้ ซึ่งได้แก่โพรโตคอล TCP/IP ซึ่งย่อมาจาก Transmission Control Protocol / Internet Protocol ซึ่งใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปี พ.ศ.2529 NSF (National Science Foundation) ได้สร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า NSFnet เพื่อใช้ในการวิจัยและการศึกษา โดยใช้โพรโตคอล TCP/IP และในที่สุดทางอาร์พาก็ได้มาเชื่อมต่อด้วย ด้วยเหตุที่ NSF เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรและมีงบประมาณจำกัด จึงโอนการดำเนินงาน NSFnet ให้กับบริษัท ANS (Advanced Network and Service) และเปลี่ยนชื่อ NSFnet เป็น อินเตอร์เน็ต (Internet) จนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากอินเตอร์เน็ตเป็นเครือข่ายรวมของหลายองค์กร การบำรุงรักษาเครือข่ายแต่ละหน่วยงานจะดูแลเฉพาะในส่วนของตน จึงไม่มีใครเป็นเจ้าของอินเตอร์เน็ตทั้งหมด แต่ก็มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดทิศทางและมาตรฐานของอินเตอร์เน็ตโดยรวมคือ สมาคมอินเตอร์เน็ต (Internet Society) ซึ่งมีผู้ใช้และผู้ให้บริการทั่วไปเป็นสมาชิก

เลขที่อยู่อินเตอร์เน็ต (Internet Address)
การติดต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ในอินเตอร์เน็ตจะใช้เลขประจำคอมพิวเตอร์ในอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีรูปแบบที่ประกอบด้วยตัวเลขจำนวนเต็ม 4 ชุด แต่ละชุดมีค่าไม่เกิน 255 และจะเขียนเรียงต่อกันไปโดยใช้เครื่องหมายจุดคั่นระหว่างชุดตัวเลข มีค่าเริ่มจาก 000.000.000.000 จนถึง 255.255.255.255 รวมแล้วมีจำนวน 4,294,967,296 หมายเลข
เลขที่อยู่ดังกล่าวจะบ่งบอกถึงกลุ่มเครือข่าย และหมายเลขประจำตัวของคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งๆ ในเครือข่าย เลขที่อยู่นี้เป็นค่าที่มีอยู่เพียงหนึ่งเดียว กล่าวคือไม่มีเลขที่ซ้ำกันอยู่เลย เลขที่อยู่นี้เรียกว่า เลขที่อยู่ IP (IP Address) หรือเลขที่อยู่อินเตอร์เน็ต (Internet Address) ซึ่งควบคุมและดูแลโดยองค์กรชื่อ InterNIC บริษัทหรือหน่วยงานใดต้องลงทะเบียนเครื่องเพื่อขอเลขที่อยู่อินเตอร์เน็ต สามารถติดต่อผ่านผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต(Internet Service Provider, ISP) หรือลงทะเบียนโดยตรงที่เวบไซต์(Web site)ของ InterNIC ที่ http://www.internic.net หรือ ติดต่อตัวแทนในแถบเอเชียแปซิฟิกที่ APNIC (Asia Pacific Network Information Center) ทางเวบไซต์ http://www.apnic.com
เลขที่อยู่อินเตอร์เน็ตนี้สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มตามจำนวนขนาดของเครือข่ายที่มีได้ โดยมีการใช้งานทั่วไป 4 กลุ่มดังนี้
1. กลุ่ม A มีหมายเลขจำนวนเต็มชุดแรกเริ่มต้นในช่วง 1 ถึง 126 เช่น 1.128.1.1
ในกลุ่มสามารถให้เลขที่อยู่กับคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายภายในได้มากถึง 16,777,216 หมายเลข ซึ่งจะใช้งานกับหน่วยงานขนาดใหญ่ที่มีคอมพิวเตอร์จำนวนมาก
2. กลุ่ม B มีหมายเลขจำนวนเต็มชุดแรกเริ่มต้นในช่วง 128 ถึง 191 เช่น 128.1.1.1
ในกลุ่มสามารถให้เลขที่อยู่กับคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายภายในได้ 65,536 หมายเลข ซึ่งจะใช้งานกับหน่วยงานขนาดกลาง
3. กลุ่ม C มีหมายเลขจำนวนเต็มชุดแรกเริ่มต้นในช่วง 192 ถึง 223 เช่น 192.154.203.1
ในกลุ่มสามารถให้เลขที่อยู่กับคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายภายในได้ 256 หมายเลข ซึ่งจะใช้งานกับหน่วยงานขนาดย่อย
4. สำหรับกลุ่ม D และ E นั้นไว้ให้เฉพาะงานพิเศษ
ในอินเตอร์เน็ตมีการเชื่อมโยงของคอมพิวเตอร์เป็นล้านเครื่อง ดังนั้นจากเดิมที่มีการใช้เลขที่อยู่อินเตอร์เน็ต เพื่อความสะดวกในการใช้งานจึงมีการแทนด้วยชื่อเครื่องในอินเตอร์เน็ต และการกำหนดชื่อที่อ้างถึงคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องให้ไม่ซ้ำกันนั้น ชื่อเครื่องหรือ ชื่อโฮสต์(host name) ในอินเตอร์เน็ตได้กำหนดมาตรฐานไว้โดยแบ่งออกเป็นส่วน ๆ บอกถึงองค์กรที่เครื่องนั้นสังกัดโดยใช้เครื่องหมายจุดเป็นตัวแบ่งไว้ เช่น ratree.psu.ac.th เป็นเครื่องratree ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ระบบชื่อโดเมน(Domain name system)
การใช้ชื่อคอมพิวเตอร์ที่เราต้องการติดต่อทำให้สะดวกยิ่งขึ้นแทนการจดจำในรูปตัวเลข แต่คอมพิวเตอร์ยังคงต้องการใช้เลขที่อยู่อินเตอร์เน็ตสำหรับทำงานเสมอ ในเครื่องที่ให้ที่บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ต จึงต้องมีการเก็บเลขที่อยู่อินเตอร์เน็ตและชื่อเครื่องในอินเตอร์เน็ตที่ใช้เรียกแทนไว้ในฐานข้อมูล ทุกครั้งที่มีการเรียกใช้ชื่อเครื่องติดต่อกับเครื่องใดๆ คอมพิวเตอร์จะต้องแปลงชื่อเครื่องกลับไปหาเลขที่อยู่อินเตอร์เน็ตเสมอโดยการตรวจค้นจากฐานข้อมูลที่เก็บไว้ ฐานข้อมูลนี้จะถูกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์หนึ่งซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวแปลงชื่อเครื่องให้เป็นเลขที่อยู่อินเตอร์เน็ต เราเรียกคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ว่า ตัวบริการระบบชื่อโดเมน (Domain Name System Server, DNS Server)
แต่เดิม มีการจัดทำฐานข้อมูลกลางไว้และส่งกระจายไปยังโฮสต์อื่น แต่เมื่อจำนวนโฮสต์เพิ่มมากขึ้น การจัดทำฐานข้อมูลจึงเป็นเรื่องเกินขีดความสามารถของเครื่องและลำบากต่อการดูแล นอกจากนี้การกระจายฐานข้อมูลขนาดใหญ่ไปยังโฮสต์อื่นผ่านทางเครือข่ายก็สร้างภาระหนักต่อระบบสื่อสาร และไม่เหมาะสมที่จะใช้ในทางปฏิบัติต่อไป
ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการจัดทำ ระบบชื่อโดเมน (Domain Name System) สำหรับใช้จัดการฐานข้อมูลชื่อเครื่องขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2529 ระบบชื่อโดเมนอาศัยฐานข้อมูลที่กระจายตัวอยู่ในแต่ละเครือข่าย การติดต่อกับเครื่องใดๆ จะมีการสอบถามหาชื่อเครื่องจากฐานข้อมูลกระจายจึงไม่จำเป็นต้องมีฐานข้อมูลรวมศูนย์อีกต่อไป
การตั้งชื่อเครื่องมีหลักเกณฑ์สากลเพื่อป้องกันการตั้งชื่อซ้ำซ้อนกัน และให้ชื่อที่ตั้งขึ้นมาบ่งบอกถึงกลุ่มเครือข่ายได้ ในอินเตอร์เน็ตมีระบบการตั้งชื่อเป็นลำดับชั้นที่เรียกว่า ระบบชื่อโดเมน (Domain Name System หรือ DNS) การเขียนชื่อโดเมนจะใช้เครื่องหมายจุดแบ่งลำดับชั้นของโดเมน ตัวอย่างเช่น
www.psu.ac.th
www.coe.psu.ac.th
ชื่อโดเมนจากซ้ายมือไปทางขวาจะบ่งบอกถึงโดเมนที่ใหญ่ขึ้นตามลำดับ ชื่อโดเมนทางขวาจะครอบคลุมโดเมนที่อยู่ทางซ้าย ชื่อด้านซ้ายสุดมักจะหมายถึงชื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนชื่อทางขวามือสุดเป็นโดเมนระดับบนสุดซึ่งใช้บ่งบอกถึงเครือข่ายระดับประเทศ เช่น www.psu.ac.th หมายถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ชื่อ www ซึ่งมีหมายเลข IP ดังรูป 1 เครื่อง www อยู่ในกลุ่ม psu ซึ่งหมายถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ psu เป็นกลุ่มที่อยุ่ในสังกัดของเครือข่ายประเภทสถาบันการศึกษาโดยใช้ชื่อย่อว่า ac ซึ่งมาจาก academic กลุ่มสถาบันการศึกษานี้สังกัดอยู่ในเครือข่ายของประเทศไทยหรือ th
โดเมนระดับบนสุด
เราสามารถสังเกตได้ว่าชื่อโดเมนที่ตั้งขึ้น ล้วนมีความหมายพอที่จะอ้างอิงถึงกลุ่มเครือข่ายหนึ่งได้ โดเมนในระยะเริ่มแรกของอินเตอร์เน็ต ซึ่งเริ่มต้นจากเครือข่ายในสหรัฐอเมริกามีอยู่ 6 โดเมน
ภายหลังที่อินเตอร์เน็ตขยายตัวออกไปทั่วโลก ก็มีการจัดสรรชื่อโดเมนให้แต่ละประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงมีการกำหนดชื่อโดเมนระดับบนสุดประจำประเทศด้วยอักษรย่อสองตัวตามมาตรฐาน ISO 3166 โดยใช้ตัวย่อจากชื่อประเทศในภาษาอังกฤษ เช่น ประเทศไทย ใช้ TH ญี่ปุ่น ใช้ JP ออสเตรเลียใช้ AU เป็นต้น
ที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์(Electronic-mail address)
สมาชิกผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทุกคนจะมีชื่อบัญชี(account name, login name)ในเครื่องที่ใช้ เพื่อแสดงสิทธิ์ในการขอเข้าใช้เครื่อง เมื่อนำชื่อบัญชีประกอบกับชื่อเครื่องจะได้ที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ประจำตัว ที่อยู่ประจำตัวจะขึ้นต้นด้วยชื่อบัญชีคั่นด้วยเครื่องหมาย @ และต่อท้ายด้วยชื่อเครื่อง เช่น ผู้ใช้มีชื่อบัญชี paijit บนเครื่อง ratree.psu.ac.th จะได้ที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตคือ paijit@ratree.psu.ac.th
ชื่อเครื่องที่อยู่หลังจากเครื่องหมาย @ นิยมเรียกกันทั่วไปว่า โดเมน(Domain) ดังนั้นที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ของทุกคนจะอยู่ในรูปแบบของ ชื่อบัญชีผู้ใช้@โดเมน

ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต
การใช้บริการอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยเริ่มจากในสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยต่างๆ โดยการเช่าวงจรสื่อสารต่างประเทศจาการสื่อสารแห่งประเทศไทยเพื่อเชื่อมต่อไปสหรัฐอเมริกา ต่อมาอินเตอร์เน็ตเป็นที่นิยมมากขึ้นมีผู้ต้องการใช้บริการมากขึ้น ดังนั้นนอกจากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่เป็นหน่วยงานราชการหรือสถาบันการศึกษาแล้ว ทางการสื่อสารแห่งประเทศไทย(กสท.)ได้เปิดให้มีการตั้งบริษัทเอกชนเพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะขึ้นมาซึ่งจะเรียกบริษัทเหล่านี้ว่า ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือ ไอเอสพี (Internet Service Provider, ISP) โดยทางบริษัทเหล่านี้มีการร่วมทุนกับทาง กสท. เพื่อเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายอินเตอร์เน็ต แล้วผู้ที่ต้องการใช้บริการอินเตอร์เน็ตก็มาสมัครเป็นสมาชิกของบริษัทเหล่านี้ และจะสามารถเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ของตนกับเครื่องที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตของไอเอสพี เพื่อเป็นทางผ่านเข้าสู่เครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้

การเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต
การเชื่อมต่อเข้าอินเตอร์เน็ต ต้องต่อเข้ากับไอเอสพี เช่นหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา หรือบริษัทที่ให้บริการอินเตอร์เน็ต ส่วนการต่อไปยังอินเตอร์เน็ตโดยตรงนั้นก็สามารถทำได้แต่ต้องเสียค่าเช่าคู่สายทางไกลไปต่างประเทศที่มีราคาแพง และต้องเสียค่าบริการให้หน่วยงานไอเอสพีของต่างประเทศด้วย และยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายของไทยให้ใช้เฉพาะในองค์กรด้วย
การเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตโดยผ่านทางไอเอสพีมี 2 แบบ
1. เชื่อมต่อกันโดยตรง (Direct connection) เข้ากับเครือข่ายของไอเอสพี
การเชื่อมต่อกันโดยตรง ทำได้โดยการใช้เครือข่าย LAN (Local Area Network) ต่อระหว่างเครื่องที่ต้องการใช้บริการกับเครื่องที่ให้บริการอินเตอร์เน็ต ซึ่งใช้โพรโตคอล TCP/IP ในการติดต่อ การใช้บริการอินเตอร์เน็ตสามารถทำได้ทั้งในรูปแบบข้อความและรูปภาพ
2. เชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายโทรศัพท์
การเชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ ทำได้โดยการเชื่อมระหว่างเครื่องผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านทางโมเด็มและสายโทรศัพท์ โดยใช้โพรโตคอล SLIP หรือ PPP การใช้งานสามารถเลือกใช้ในแบบรูปภาพและข้อความ หรือข้อความอย่างเดียวก็ได้

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต
นอกจากสมัครเป็นสมาชิกของไอเอสพีแล้ว ต้องเตรียมอุปกรณ์เพื่อเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตด้วย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ
ฮาร์ดแวร์ ได้แก่ส่วนที่เป็นคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ถ้าเป็นเครื่องพีซี ควรจะมีส่วนประมวลผลกลางตั้งแต่ 80486 DX /2 66 เมกกะเฮริต ขึ้นไป มีหน่วยความจำ 16 เมกกะไบต์ มีพื้นที่บนฮาร์ดดิสก์อย่างน้อย 200 เมกกะไบต์ การ์ดแสดงผลที่แสดงผลได้ไม่น้อยกว่า 256 สี ที่ 800x600 พิกเซล (pixel) มีเมาส์(Mouse) ถ้ามีอุปกรณ์มัลติมีเดียเช่น การ์ดเสียง ลำโพง ไมโครโฟน และ ซีดีรอมไดรว์ ก็ทำให้การใช้งานบริการอินเตอร์เน็ตได้ครบถ้วนขึ้น
ส่วนประกอบต่อไปคือ สายโทรศัพท์ เพื่อส่งสัญญาณข้อมูลต่าง ๆ และหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ต่อกับไอเอสพี และอุปกรณ์ที่ใช้ติดต่อสัญญาณทางโทรศัพท์คือ โมเด็ม (Modem) ซึ่งยิ่งมีความเร็วมากยิ่งดี แต่ต้องขึ้นกับความสามารถที่ให้บริการของไอเอสพีด้วย ส่วนมากไม่ควรมีความเร็วต่ำกว่า 28.8 กิโลบิตต่อวินาที
ซอฟต์แวร์ ได้แก่ ระบบปฎิบัติการ สำหรับพีซีแล้วก็ควรเป็นวินโดวส์ 95 ต่อมาคือโปรแกรมที่ใช้ในการสื่อสารเพื่อหมุนโทรศัพท์เข้าไปเชื่อมต่อกับไอเอสพี ถ้าในวินโดวส์ 95 จะมีโปรแกรม Dial-Up Networking มาให้แล้ว สุดท้ายคือ โปรแกรมใช้งานบริการบนอินเตอร์เน็ต (Internet Application Program) เช่น เนสเคป หรือ อินเตอร์เน็ตเอ็กซ์พลอเรอร์ เป็นต้น

ประโยชน์ของอินเตอร์เน็ต
อินเตอร์เน็ตเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ครอบคลุมทั่วโลก และมีผู้ใช้ใส่ข่าวสารข้อมูลไว้จำนวนมากหลากหลายประเภท ซึ่งสามารถค้นคว้าและรับส่งข้อมูลกับผู้ใช้คนอื่นได้
ในด้านการศึกษาสามารถเข้ามาหาข้อมูลทางวิชาการต่างๆ เช่น ทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม-ศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ และ อื่น ๆ นอกจากนี้สามารถสั่งงานคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นที่เป็นสมาชิก และมีความเร็วสูงเพื่อให้ประมวลผลข้อมูลแล้วส่งผลลัพธ์กลับมา โดยผู้ใช้งานสั่งงานทางไกลได้ หรือติดต่อกับผู้ใช้งานอื่นเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารกัน
ในด้านการสื่อสารสามารถใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อรับส่งข่าวสารระหว่างกัน โดยการใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์(E-mail)ได้ทั่วโลกในเวลารวดเร็ว และใช้ค่าใช้จ่ายต่ำเมื่อเทียบกับการส่งจดหมายหรือทางโทรสาร หรือการใช้โปรแกรมสื่อสารอื่นที่สามรถส่งภาพและเสียงได้
ในด้านธุรกิจการค้าสามารถซื้อขายสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยผ่านทางเวบไซต์(Web site) โดยการเลือกสินค้าแล้วสั่งซื้อและจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต รวมถึงการโฆษณาสามารถทำโดยผ่านทางเวบไซต์ด้วย รวมทั้งการเปิดบริการตอบคำถาม ให้ข้อมูลแก่ลูกค้าทางอินเตอร์เน็ตได้
ในด้านบันเทิง หรืองานอดิเรก ก็มีให้ใช้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น วารสารทางอิเล็กทรอนิกส์ การชมภาพยนตร์ การฟังเพลง ข่าว เกมคอมพิวเตอร์ เรื่องขำขัน คำทำนาย หรือรูปภาพสวยๆ ทั้งที่ต้องชำระเงินค่าบริการและที่ไม่เสียค่าบริการให้เลือก




1.4 บริการในระบบอินเตอร์เน็ต
เพื่อให้การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด โดยผ่านทางเครือข่ายสามารถทำได้โดยการเปิดบริการให้ผู้ใช้อื่นใช้งานร่วมด้วย อินเตอร์เน็ตจึงมีศูนย์และหน่วยให้บริการข้อมูลและข่าวสาร เช่น ข่าวประจำวัน สภาพดินฟ้าอากาศ ข้อมูลห้องสมุด และบทความทางด้านต่างๆ ตามความถนัดและความเชี่ยวชาญของแต่ละศูนย์บริการ อินเตอร์เน็ตจึงเป็นเครือข่ายที่ผู้ใช้งานทั่วโลกมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างกว้างขวางและมากที่สุด หากจะแยกประเภทของการให้บริการหลักๆ แล้วสามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่
1. จดหมายอิเล็กทรอนิกส์(E-mail, Electronic mail)
เป็นการรับส่งข้อความที่มีขั้นตอนคล้ายกับการส่งจดหมายทางไปรษณีย์ แต่เป็นแบบอัตโนมัติผ่านทางคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้งานสามารถส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงผู้ใช้งานที่อยู่ภายในอินเตอร์เน็ตหรือเครือข่ายอื่นที่เชื่อมกับอินเตอร์เน็ตได้ทั่วโลก จดหมายอิเลกทรอนิกส์นี้ทำให้การสื่อสารกันระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมีความสะดวกขึ้น ถ้าเปรียบกับโทรศัพท์ โทรศัพท์ต้องพบผู้ที่ต้องการซึ่งอาจยุ่งยากในการตามตัวกันให้พบ การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เพียงเขียนข้อความรายละเอียดที่ต้องการแล้วส่งไปยังผู้รับ จดหมายนั้นจะรออยู่จนผู้รับสะดวกหรือว่างอ่านข้อความ และสามารถตอบกลับมายังผู้ส่งได้ทันทีไม่ต้องเสียเวลารอคอย และยังสามารถแก้ปัญหาในเรื่องการสื่อสารกับต่างประเทศที่มีเวลาการทำงานต่างกันได้
ส่วนประกอบของจดหมายอิเลกทรอนิกส์ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหัว(Header) กับส่วนที่เป็นข้อความ(Body) ข้อความในส่วนหัวเปรียบเหมือนจ่าหน้าซองจดหมายเพื่อระบุผู้รับปลายทาง โดยต้องเติมข้อมูลต่อไปนี้
TO: ให้ใส่เลขที่อยู่อินเตอร์เน็ตของผู้รับปลายทาง
SUBJECT : เป็นหัวข้อเรื่องของจดหมาย
CC : เป็นเลขที่อยู่อิเลกทรอนิกส์ของผู้รับคนอื่นที่ต้องการให้ได้รับสำเนาจดหมายฉบับนี้
BCC : เป็นเลขที่อยู่อิเลกทรอนิกส์ของผู้รับคนอื่นที่ต้องการให้ได้รับสำเนาจดหมายฉบับนี้
โดยไม่แสดงให้ผู้รับปลายทางรู้
ATTACHMENT : แฟ้มข้อมูลที่ต้องการแนบไปกับจดหมาย
นอกจากนี้โดยทั่วไปแล้วการใช้งานจดหมายอิเลกทรอนิกส์ต้องรู้รายละเอียดต่อไปนี้
• เลขที่อยู่อิเลกทรอนิกส์ ทั้งของเรา และผู้ที่ต้องการส่งจดหมายให้
• รหัสผ่านที่เข้าใช้บริการอินเตอร์เน็ตเพื่อใช้ในการตรวจจดหมายอิเลกทรอนิกส์ที่มาถึงในกล่องจดหมายส่วนตัวในเครื่องที่ให้บริการอินเตอร์เน็ต
• ชื่อของเครื่องบริการจดหมายอิเลกทรอนิกส์ที่เราเป็นสมาชิก ซึ่งแบ่งเป็นเครื่องบริการที่ใช้ส่งจดหมายอิเลกทรอนิกส์โดยมากจะใช้โพรโตคอลของ POP(Post Office Protocol) และเครื่องที่บริการส่งจดหมายอิเลกทรอนิกส์ที่มักใช้โพรโตคอลของ SMTP(Simple Mail Transfer Protocol)
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถรู้จากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่เราได้เป็นสมาชิกอยู่

2. ขนถ่ายแฟ้มข้อมูล
ใช้ในการรับส่งแฟ้มข้อมูลและโปรแกรมต่างๆ ซึ่งเป็นบริการสำคัญอีกประเภทหนึ่งในอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้เพื่อช่วยให้มีการพัฒนางานสำหรับการวิจัยมากขึ้น แฟ้มที่ให้ถ่ายโอนได้นั้น มีทั้งข้อมูลทั่วไป ข่าวสารประจำวัน บทความ รวมถึงโปรแกรมบนเครื่องต่างๆ ซึ่งสามารถทำได้ผ่านทาง FTP(File Transfer Protocol)
การใช้งานการขนถ้ายแฟ้มข้อมูลต้องติดต่อไปยังเครื่องที่ให้บริการขนถ่ายแฟ้มข้อมูลหรือเอฟทีพีไซต์ (FTP Site) ซึ่งอาจเป็นมหาวิทยาลัย บริษัท หน่วยงานราชการ หรือส่วนบุคคลก็ได้ที่เราเป็นสมาชิกซึ่งต้องมีชื่อบัญชีผู้ใช้ และ รหัสผ่าน แต่เครือข่ายหลายแห่งได้เปิดบริการสาธารณะให้ผู้ใช้ภายนอกสามารถโอนข้อมูลได้ด้วยชื่อบัญชี anonymous โดยไม่ต้องป้อนรหัสผ่าน หรือบางแห่งอาจจะให้ป้อนรหัสผ่านด้วย E-mail address ของผู้ใช้ โดยเรียกว่า เอฟทีพีนิรนาม (Anonymous FTP)
เมื่อเข้าไปยังเครื่องที่ให้บริการได้แล้วถ้าทำการรับข้อมูลมายังคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานเรียกว่าทำการดาวน์โหลดข้อมูล (Download Data) เมื่อส่งข้อมูลไปยังเครื่องอื่นเรียกว่าอัพโหลดข้อมูล (Upload Data) ลักษณะของข้อมูลในเอฟทีพีไซต์เป็นเหมือนกับแฟ้มกระดาษที่เก็บในตู้เอกสาร
แฟ้มข้อมูลที่เก็บในเอฟทีพีไซต์จะเป็นแฟ้มข้อมูลแบบเท็กซ์ (Text Files) หรือ แฟ้มข้อมูลแบบไบนารี (Binary File) แฟ้มข้อมูลแบบเท็กซ์จะเก็บเฉพาะตัวอักษรและมักเป็นข้อความเท่านั้น เช่น เอกสารงานวิจัย คู่มือ เอกสารทางวิชาการ สำหรับแฟ้มข้อมูลแบบไบนารีจะสามารถเก็บข้อมูลได้หลากชนิดกว่า เช่น โปรแกรม ภาพ เสียง หรือวีดีโอ

โปรแกรมที่ให้บริการบนเอฟทีพีไซต์แบ่งตามขอบเขตการใช้งานได้เป็น
• ฟรีแวร์(Freeware) เป็นโปรแกรมที่ผู้สร้างให้นำไปใช้ได้ฟรี โดยสามารถแจกจ่ายให้ผู้อื่นได้ แต่ห้ามนำไปจำหน่าย
• แชร์แวร์(Shareware)เป็นโปรแกรมที่ผู้สร้างให้นำไปทดลองใช้ ถ้าชอบก็ต้องจ่ายเงินให้กับผู้สร้างโปรแกรมนั้น

ในการส่งแฟ้มข้อมูลบนเครือข่ายเพื่อให้รวดเร็วขึ้นจะมีการย่อหรือบีบอัดข้อมูลให้เล็กลง โดยเรียกแฟ้มข้อมูลที่ผ่านการบีบอัดแล้วว่าแฟ้มข้อมูลแบบคอมเพรส (Compressed File) โปรแกรมบีบอัดข้อมูลที่เป็นที่รู้จักอย่างเช่น PK Zip เป็นต้น เมื่อได้รับแฟ้มข้อมูลแบบคอมเพรสต้องใช้โปรแกรมขยายให้กลับมาเป็นแฟ้มข้อมูลต้นฉบับก่อนจึงสามารถนำแฟ้มข้อมูลนั้นไปใช้งานได้ตามเดิม

3. การใช้โปรแกรมบนเครื่องคอมพิวเตอร์อื่น
ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบอื่นในที่ห่างไกล ซึ่งมีโปรแกรมหรือบริการนอกเหนือไปจากเครื่องที่ใช้อยู่ การสั่งให้โปรแกรมทำงานได้บนอีกเครื่องหนึ่งนั้นช่วยให้ผู้ใช้ไม่ต้องเดินทางไปที่เครื่องนั้น สามารถทำได้โดยการใช้โปรแกรม Telnet
Telnet เป็นโปรแกรมประยุกต์สำหรับการเข้าใช้ระบบจากระยะไกล Telnet ช่วยให้ผู้ใช้ใน อินเตอร์เน็ตนั่งทำงานอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเอง แล้วเข้าไปใช้เครื่องอื่นที่อยู่ในที่ต่างๆ ภายในเครือข่าย เครื่องที่ขอเข้าใช้อาจจะเป็นเครื่องที่อยู่ภายในห้องเดียวกัน หรือในตึกเดียวกัน หรือแม้กระทั่งเครื่องใดๆ ทั่วทุกมุมโลกที่เชื่อมต่อเป็นส่วนหนึ่งของอินเตอร์เน็ตอยู่
การเข้าใช้ระบบใดๆ ด้วย Telnet ให้เรียกใช้โดยการพิมพ์คำสั่ง Telnet ตามด้วยชื่อเครื่อง หรือ IP Address ของเครื่องนั้นตามรูปแบบคำสั่ง telnet [ชื่อเครื่อง หรือ IP Address]
เช่น คำสั่ง telnet fivedots.coe.psu.ac.th หรือ telnet 203.154.146.5
ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นผลจากการใช้ เครื่อง fivedots.coe.psu.ac.th โดยการใช้โปรแกรม telnet ของวินโดวส์ 95
4. บริการค้นหาแฟ้มข้อมูล
ในเครือข่ายมีคอมพิวเตอร์และแฟ้มเป็นจำนวนมากจึงเป็นเรื่องที่ยากในการค้นหาข้อมูลที่ต้องการ ในอินเตอร์เน็ตจึงมีโปรแกรมอำนวยความสะดวกช่วยในการค้นหาแฟ้มและฐานข้อมูล เช่น Archie, Gopher หรือ WAIS เป็นต้น
Archie : บรรณารักษ์ของเอฟทีพีไซต์ Archie เป็นระบบช่วยค้นหาที่อยู่ของแฟ้มข้อมูลบนเครื่องที่ให้ติดต่อสาธารณะหรือเอฟทีพีนิรนาม โปรแกรมจะสร้างบัตรรายการแฟ้มข้อมูลไว้ในรูปของฐานข้อมูลที่ค้นหาได้ เมื่อต้องการค้นว่าแฟ้มข้อมูลที่สนใจอยู่ที่เครื่องใด เพียงแต่เรียกใช้ archie แล้วป้อนคำสั่งค้นชื่อแฟ้มข้อมูล โปรแกรมจะตรวจค้นฐานข้อมูลและแสดงชื่อแฟ้มพร้อมทั้งรายชื่อ เครื่องที่เก็บแฟ้มข้อมูล เมื่อผู้ใช้ทราบชื่อ เครื่องก็สามารถใช้ ftp ต่อเชื่อมไปยัง เครื่องที่ต้องการเพื่อถ่ายโอนแฟ้มข้อมูลต่อไป
Gopher : เป็นโปรแกรมหนึ่งที่ใช้สำหรับเปิดค้นหาข้อมูลและขอใช้บริการด้วยระบบเมนู โปรแกรม gopher เป็นเสมือนคลังห้องสมุดและเป็นจุดศูนย์รวมการเรียกใช้บริการต่างๆ ที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ตได้อย่างสะดวก
Gopher มีเมนูให้ผู้ใช้เลือกค้นหาข้อมูลไปทีละหัวข้อ และอาจมีเมนูย่อยให้เลือกลึกลงไปได้ตามลำดับ เมื่อเลือกไปจนกระทั่งเมื่อถึงเมนูชั้นในสุดของหัวข้อนั้นๆ gopher ก็จะแสดงข้อมูลบนจอภาพให้พลิกอ่านไปทีละหน้า Gopher ยังเป็นตัวกลางให้บริการเข้าใช้ระบบ telnet ถ่ายโอนแฟ้มด้วย ftp หรือค้นหาชื่อ เครื่องที่เก็บแฟ้มข้อมูลด้วย Archie บริการเหล่านี้ช่วยอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้อย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องพิมพ์คำสั่งเพื่อขอใช้บริการ และไม่จำเป็นต้องจดจำชื่อ เครื่องที่ต้องการติดต่อเพราะสามารถเลือกได้จากเมนู Gopher จึงเป็นเสมือนเส้นทางหรืออุโมงค์ลัดเลาะไปสู่บริการในอินเตอร์เน็ตทั่วโลก
WAIS : ดรรชนีสู่แหล่งข้อมูล ลักษณะของ WAIS เป็นการเชื่อมโยงศูนย์ข้อมูลที่มีอยู่บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเข้าไว้ด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ในการค้นหาข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากว่าในอินเตอร์เน็ตมีฐานข้อมูลหลายแห่งกระจัดกระจาย การค้นข้อมูลโดยแยกไปค้นตามฐานข้อมูลต่างๆ ย่อมไม่สะดวก การทำงานของ WAIS จะทำให้ผู้ใช้เห็นเหมือนกับว่ามีฐานข้อมูลเพียงแห่งเดียว และเมื่อต้องการค้นหาข้อมูล คอมพิวเตอร์อาจจะช่วยค้นไปยังแหล่งข้อมูลที่ต่างๆ ที่ต่อเชื่อมกัน
หากเปรียบเทียบกับเครื่องมืออื่นในอินเตอร์เน็ต อย่างเช่น Archie ซึ่งเป็นบริการช่วยค้นหาแหล่งที่เก็บแฟ้มโปรแกรม ข้อมูล หรือเอกสาร โดยที่ผู้ใช้จะต้องป้อน ชื่อ ของแฟ้มที่ต้องการค้นหา แต่สำหรับ WAIS เป็นบริการค้นหาข้อมูลโดยผู้ใช้จะต้องป้อนข้อมูลเกี่ยวกับ เนื้อหา ที่อยู่ในแฟ้มนั้น โปรแกรม WAIS จึงทำหน้าที่คล้ายกับบรรณารักษ์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อผู้ใช้ถามว่าจะหาข้อมูลจากที่ไหน คอมพิวเตอร์จะพยายามที่จะให้ข้อมูลเอกสารที่คิดว่าเกี่ยวข้องมากที่สุดตามความต้องการนั้นๆ ความจริงแล้วคอมพิวเตอร์ได้ได้ เข้าใจ คำถามที่ป้อนเข้าไป เพียงแต่ค้นหาเอกสารที่บรรจุด้วยคำ หรือ วลีสำคัญที่ผู้ใช้กำหนดมาเท่านั้น

5. กลุ่มสนทนาและข่าวสาร
เนื่องจากมีผู้ใช้ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นจำนวนมากทั่วโลก จึงมีการจัดแบ่งกลุ่มเพื่อการแลกเปลี่ยนทัศนะและแสดงความเห็นในหัวข้อต่างๆ ผ่านทางระบบเครือข่าย
USENET เป็นระบบเครือข่ายจากการสร้างสรรค์ของนักศึกษาปริญญาโท 2 คนของมหาวิทยาลัยดุกค์ ประเทศสหรัฐอเมริกา นักศึกษาทั้งสองคนได้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ทำให้ผู้คนที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ต่างระบบกันสามารถที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเรื่องต่างๆ ในรูปการเสนอข้อคิดเห็น อภิปรายโต้ตอบกัน ซอฟต์แวร์ดังกล่าวผ่านการปรับปรุงพัฒนาไปแล้วหลายรุ่น จนกระทั่งในปัจจุบันนี้มีซอฟต์แวร์นี้แพร่หลายอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลก และมีผู้ใช้งานหลายแสนคนในแต่ละวัน ผู้ใช้ระบบดังกล่าวนี้ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อยจำนวนมากที่เรียกว่า กลุ่มข่าว หรือ News Group
กลุ่มข่าวใน USENET เป็นกลุ่มอภิปรายที่มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารและความคิดเห็นในหัวข้อต่างๆ ตามที่กลุ่มนั้นสนใจ ตั้งแต่เรื่องทางเทคนิค วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงเรื่องกีฬา ศาสนา ปรัชญา หรือแม้แต่เรื่องชีวิตรัก และหัวข้อที่พิสดารอื่นๆ อีกมาก
USENET เปรียบเสมือนระบบกระดานข่าวขนาดมหึมาที่ผู้ใช้ในอินเตอร์เน็ตสามารถเข้าไปใช้บริการได้ USENET เป็นแหล่งของข้อมูลข่าวสารที่กว้างใหญ่ไพศาล เอื้ออำนวยให้ผู้ใช้บริการรับรู้ข่าวสารจากทั่วโลก นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็นของเราเองในเรื่องนั้นๆ ได้ด้วย
กลุ่มข่าวเป็นการรวบรวมกลุ่มผู้สนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษเพื่อการแลกเปลี่ยนข่าวสารและข้อคิดเห็นในเรื่องที่กลุ่มกำหนดขึ้น หรือเพื่อผู้ใช้ Usenet กลุ่มอื่นๆ จะได้ทราบเนื้อหาที่อภิปรายกันในกลุ่มนั้นๆ กลุ่มข่าวเหล่านี้มีการจัดโครงสร้างเป็นลำดับชั้นคล้ายรากต้นไม้ (Hierarchy) กล่าวคือ จะมีชื่อหัวข้อใหญ่ เช่น ทางด้านคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ สันทนาการ (Recreation) โดยทั้งหมดจะใช้ชื่อย่อ เช่น สันทนาการ (Recreation) จะใช้ rec เป็นต้น แต่ละหัวข้อใหญ่อาจมีหัวข้อรองลงไป อย่างเช่น ด้านสันทนาการจะประกอบด้วย ทางด้านดนตรี (rec.music) ทางด้านการถ่ายภาพ (rec.photo) และอาจจะมีหัวข้อย่อยรองลงไปอีก เช่น ทางด้านดนตรี rec.music.classical , rec.music.makers



กลุ่มข่าวจะแบ่งเป็น 8 หัวข้อใหญ่ ดังนี้
comp หัวข้อนี้จะเก็บข่าวเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทุกอย่าง
misc เก็บเรื่องราวเบ็ดเตล็ดทั่วไป
news เก็บเฉพาะข่าวเกี่ยวกับบริการ USENET และกลุ่มข่าวเท่านั้น
rec รวมรวมข่าวที่เกี่ยวกับบันเทิงและสันทนาการ
sci เก็บเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์
soc เก็บข้อมูลทางด้านสังคมและวัฒนธรรม
talk เก็บทุกเรื่องโดยไม่จำกัดหัวข้อ เพื่อขอคำแนะนำ แสดงความคิดเห็นทั่วไป
alt เก็บรวบรวมทุกอย่างแยกมาจาก 7 หัวข้อแรกโดยไม่แยกประเภทว่าจะเป็นความคิดเห็น คำปรึกษา หรือ สิ่งแวดล้อม

ต่อมามีการเพิ่มหมวดหมู่ภายหลัง
bionet เป็นเรื่องทางชีววิทยา
bit.listserv เป็นเครื่องบริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้บริการกลุ่มข่าวด้วย
biz เก็บข้อมูลทางด้านธุรกิจทั่วไป
K12 เก็บเรื่องราวการศึกษาทางไกล
th เก็บเรื่องราวของแต่ละประเทศตามอักษรย่อของประเทศนั้น เช่น th คือประเทศไทย
6. บริการ เวิลด์ไวด์เวบ(World Wide Web, WWW)
WWW (World Wide Web) เป็นบริการข้อมูลแบบมัลติมีเดีย สามารถให้บริการได้ทั้ง ข้อความ ภาพกราฟฟิก เสียง หรือภาพเคลื่อนไหว และยังมีบริการอื่นรวมไว้ด้วย เช่น การขนถ่ายแฟ้มข้อมูล การค้นหาข้อมูล กลุ่มสนทนาและข่าวสาร การใช้โปรแกรมบนเครื่องอื่น เป็นต้น
WWW เครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานอินเตอร์เน็ตได้เกือบครบทุกเรื่อง รวมทั้งความง่าย สะดวก และสามารถค้นหาข้อมูลได้ในแทบทุกเรื่อง จึงเป็นที่นิยมในหมู่ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน และอนาคต WWW มีการใช้งานแบบ Hypertext โดยการแสดงข้อความแบบเน้นซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังจุดอื่นได้การเชื่อมโยงดังกล่าวอาจเรียกว่า hotlinks หรือ hyperlink ซึ่งผู้ใช้สามารถใช้ปุ่มลูกศรหรือ เมาส์ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากคำหรือประโยคหรือรูปภาพที่กำหนดไว้ได้
ในปัจจุบัน การใช้งาน WWW สามารถทำได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น โดยใช้โปรแกรมที่เรียกว่า เว็บบราวเซอร์ ซึ่งมีผู้ผลิตออกมาหลายบริษัท ที่เรารู้จักกันดี ได้แก่เนสเคป และอินเตอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์
การใช้บริการ WWW ต้องใช้รูปแบบการใช้บริการที่เรียกว่า URL (Universal Resource Locator) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Address หรือ Location รูปแบบของ URL เป็นดังนี้

protocol://host.domain/path/file

protocol หมายถึง โพรโตคอลที่ต้องการใช้บริการในอินเตอร์เน็ต ได้แก่
http:// เป็นโพรโตคอลที่ใช้เรียกบริการ WWW
ftp:// เป็นโพรโตคอลที่ใช้เรียกบริการขนถ่ายข้อมูล
news:// เป็นโพรโตคอลที่ใช้เรียกบริการกลุ่มข่าว
gopher:// เป็นโพรโตคอลที่ใช้เรียกบริการ gopher
host หมายถึงชื่อเครื่องที่ให้บริการ
domain หมายถึงโดเมนเนม
path คือตำแหน่งที่เก็บข้อมูลในเครื่องที่ให้บริการ
file คือชื่อแฟ้มข้อมูลที่ต้องการเรียกใช้
การใช้งานURLนั้น โดยมากไม่ต้องระบุส่วนที่เป็น path และ file จะระบุเมื่อต้องการเปิดแฟ้มข้อมูลที่ต้องการโดยตรง ตัวอย่างการใช้งาน URL เช่น

http://www.yahoo.com เป็นการใช้ WWW ไปยังเครื่องให้บริการชื่อ yahoo

fttp://ftp.psu.ac.th เป็นการใช้บริการขนถ่ายแฟ้มข้อมูล

สำหรับ WWW แล้ว เว็บเพจ(Web Page )คือกลุ่มเอกสารที่เก็บตามเครื่องให้บริการ WWW
หรือที่เรียกว่าเว็บไซต์(Web Site) สำหรับหน้าแรกของการใช้งาน Web browser จะเรียกว่าโฮมเพจ(Home Page) ซึ่งสามารถที่จะเรียกเอกสารหน้าใดก็ได้เป็นโฮมเพจ

มารยาทการใช้เครือข่าย
เครือข่ายแต่ละแห่งจะมีระเบียบการใช้งานเครือข่ายที่แตกต่างๆกันไปตามความเหมาะสมว่าต้องปฏิบัติในลักษณะอย่างไร หรือมีข้อห้ามอะไรบ้าง สมาชิกในเครือข่ายก็จำเป็นต้องรับทราบและปฏิบัติตามแนวทางที่ผู้ดูแลเครือข่ายกำหนดไว้ นอกเหนือไปจากข้อตกลงในรูปแบบของกฎระเบียบดังกล่าวแล้ว ผู้ใช้งานเครือข่ายยังควรทราบถึงมารยาทและหลักพึงปฏิบัติต่อผู้ใช้รายอื่นในระบบอีกด้วย




จุดประสงค์ของการเข้าใช้งานเครือข่ายของผู้ใช้แต่ละคนนั้นแตกต่างไป บางคนเพียงแต่ต้องการรับส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ บางคนต้องการอ่านข่าว บางคนต้องการค้นหาและถ่ายโอนแฟ้มข้อมูล ถ้าหากผู้ใช้แต่ละรายใช้งานอย่างเต็มที่โดยไม่สนใจต่อผลกระทบที่มีต่อการใช้งานของผู้อื่นก็นับเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม การใช้บริการจึงต้องคำนึงถึงระยะและช่วงเวลาในการใช้ด้วยดังต่อไปนี้
• ควรใช้งานเท่าที่จำเป็น ไม่สมควรที่จะใช้ระบบและปล่อยทิ้งไว้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่ระบบทางโมเด็ม เพราะจะทำให้ผู้ใช้รายอื่นเข้าใช้ระบบยากหรือไม่ได้เลย เนื่องจากศูนย์บริการเครือข่ายส่วนใหญ่มักจะมีจำนวนคู่สายที่รับการเชื่อมต่อจากภายนอกจำนวนจำกัด
• หากจำเป็นต้องใช้บริการที่ต้องกินทั้งเวลาและความสามารถของระบบ ควรเลือกกระทำในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้งานน้อย ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องการถ่ายโอนแฟ้มขนาดใหญ่จากศูนย์บริการต่างประเทศก็ควรใช้ช่วงเวลาที่ไม่มีผู้ใช้รายอื่นอยู่มากนัก ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลากลางคืน วิธีนี้เป็นผลดีต่อทั้งผู้ใช้รายอื่นและตนเองคือการถ่ายโอนข้อมูลจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของผู้อื่นและทำได้ในเวลาที่รวดเร็วกว่าเวลาปกติด้วย
• การเข้าใช้งานระบบทุกครั้งพึงระลึกเสมอว่าจะต้องไม่รบกวนหรือสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ใช้งานคนอื่น และระบบไม่ใช่ที่ทดลองการทำงานของคำสั่งทุกคำสั่ง จึงไม่ควรใช้คำสั่ง write, wall หรือ talk ไปยังผู้ใช้คนอื่นอย่างพร่ำเพรื่อ
• ดูแลข้อมูลในส่วนที่เป็นของตนเองให้มีระเบียบและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างระมัดระวัง
• เข้าใช้งานระบบด้วยรายชื่อของตนเองเท่านั้น และไม่ให้ผู้อื่นใช้รายชื่อของตนเองในการเข้าสู่ระบบ หรือบอกรหัสผ่านให้ผู้อื่นทราบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น