Music Hit In your life

วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553

Blu-ray & HD DVD Technology

เทคโนโลยี Blu-ray และ HD DVD


พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
ธเนศ ป้านสำราญ


อุตสาหกรรมและตลาดของอุปกรณ์เกี่ยวกับความบันเทิง(Digital Entertainment) มีการแย่งชิงการเป็นผู้กำหนดมาตรฐานเทคโนโลยีดีวีดี (Digital Versatile Disc: DVD) ระหว่าง 2 ค่ายยักษ์ได้แก่ สมาคม Blu-ray Disc (the Blu-ray Disc Association: BDA) ที่มีสมาชิกกว่า 140 หน่วยงาน/องค์การ นำโดยบริษัทโซนี่ (Sony) และบริษัทฟิลิปส์ (Philips) ซึ่งเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยี Blu-ray Disc และ DVD Forum ซึ่งสนับสนุนเทคโนโลยี High Density Digital Versatile Disc: HD DVD) โดยการคิดค้นของบริษัทฮิตาชิ (Hitachi) และบริษัทโตชิบา (Toshiba) โดยทั้ง 2 ค่าย ต่างพยายามผลักดันให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ รวมทั้ง บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ชั้นนำให้หันมาสนับสนุนเทคโนโลยีของตน

เทคโนโลยี Blu-ray นั้น ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทชั้นนำ เช่น บริษัท ฮิวเล็ตแพคการ์ด (HP) บริษัท แอ็ปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ (Apple Computer) บริษัท เอ็มจีเอ็ม สตูดิโอ (MGM Studios) และบริษัท เซ็นจูรี่ฟอกซ์ (Century Fox) ส่วนเทคโนโลยี HD DVD นั้นได้รับแรงสนับสนุนจากบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) บริษัทอินเทล (Intel) บริษัท เอ็นบีซี ยูนิเวอร์ซัล (NBC Universal) รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตจากประเทศจีน ว่ามีแผนการที่ผลิตสินค้า HD DVD ออกสู่ตลาดภายในปี พ.ศ. 2549 สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งทำให้สงครามการถกเถียงกันระหว่าง 2 ค่ายใหญ่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

Blu-ray คืออะไร

Blu-ray Disc (BD) คือ แผ่นเก็บข้อมูล (optical disc) รูปแบบใหม่ที่สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่า optical disc รูปแบบเดิมโดย BD นี้ใช้ความยาวคลื่นแสงเลเซอร์ ช่วง 405 นาโนเมตร (nm) หรือสีฟ้าม่วง (Blue-violet) ซึ่งทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่าแผ่นดีวีดีรูปแบบเดิมซึ่งให้สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่าแผ่นดีวีดีรูปแบบเดิมซึ่งใช้ความยาวคลื่นแสงเลเซอร์สีแดง นอกจากนั้น BD ยังมีพื้นผิวที่บางกว่า DVD ปกติ เพื่อลดผลกระทบที่ไม่จำเป็นในการอ่านข้อมูล และแสงเลเซอร์จะโฟกัสในบริเวณจุดแคบบนพื้นผิวของดิสก์ตามมาตรฐานของ Blu-ray นั้น ทำให้เกิดข้อเสียคือข้อมูลอาจถูกทำลายได้ง่าย หากแผ่น BD นั้นมีฝุ่นเกาะหรือเป็นรอย ดังนั้นทางผู้ผลิตจึงต้องหุ้มแผ่น BD ด้วยกล่องพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง อย่างไรก็ดี ทางสมาคม Blu-ray Disc ได้ประกาศว่าพัฒนาโพลีเมอร์ใส “Durabis” ซึ่งสามารถเคลือบลงบนแผ่น BD และช่วยป้องกันการขูดขีดได้ รวมทั้งทำให้สามารถทำความสะอาดด้วยกระดาษทิชชูธรรมดาได้

แผ่น BD สามารถเก็บข้อมูลได้ชั้น (Layer) ละ 23-27 กิกะไบต์ (GB) ซึ่งมีความจุไฟล์วิดีโอที่มีความละเอียดสูงได้นานกว่า 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ ทางทีมผู้พัฒนาได้ออกแบบให้แผ่น BD มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 120 มิลลิเมตร และ 80 มิลลิเมตรเพื่อใช้สำหรับกล้องวีดีโอซึ่งมีความจุ 15 GB และทีมวิจัยยังได้พัฒนาการเข้ารหัสข้อมูลให้ดีมากยิ่งขึ้นซึ่งจะสามารถทำให้แผ่น BD สามารถเก็บข้อมูลได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย (เทคนิคการเข้ารหัสจะช่วยเพิ่มความหนาแน่นของพื้นผิว ทำให้สามารถเก็บข้อมูลลงบนแผ่นได้มากขึ้น)

HD DVD คืออะไร

HD DVD หรือ High Density Versatile Disc คือ รูปแบบแผ่นเก็บข้อมูล ซึ่งมีขนาดเท่ากับแผ่นซีดีในปัจจุบัน คือ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 120 มิลลิเมตร โดยใช้แสงเลเซอร์สีแดงความยาวคลื่น 650 นาโนเมตร แผ่น HD DVD มีความจุ 15 GB ต่อหนึ่งชั้น และสามารถจุข้อมูลได้ถึง 3 ชั้น ดังนั้นจึงมีความจุได้ถึง 45 GB ทั้งนี้แผ่นพื้นผิว HD DVD มีความหนาประมาณ 0.6 มิลลิเมตร (ขนาดเท่ากับแผ่นซีดีในปัจจุบัน) นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการผลิตแผ่น HD DVD รวมทั้งเครื่องเล่นแผ่น HD DVD ยังมีราคาถูกกว่าเทคโนโลยี Blu-ray อีกด้วย

ในปัจจุบัน นอกเหนือจากบริษัทชั้นนำที่ได้ออกมาประกาศสนับสนุนเทคโนโลยีทั้งสองอย่างมากแล้ว บริษัทที่เคยสนับสนุนเทคโนโลยีใดเพียงอย่างเดียว เช่น บริษัทฮิวเล็ตแพคการ์ด (HP) ยังได้ปรับท่าที และหันมาหาทางเจรจาให้ทาง Blu-ray เพิ่มซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถคัดลอกเนื้อหา หรือภาพยนตร์ จากแผ่น Blu-ray หรือ HD DVD ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้ ซึ่งมาตรฐานซอฟต์แวร์นี้ได้ถูกบรรจุลงใน HD DVD แล้ว บริษัท Sony ได้ประกาศว่าจะใช้ Blu-ray disc สำหรับเครื่องเล่น Play Station 3 ซึ่งจะทำให้ Blu-ray disc สามารถบุกเข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีจากประสบการณ์การโต้เถียงระหว่างมาตรฐานของเครื่องเล่นวีดีโอ ระหว่าง Betamax และ VHS เมื่อประมาณปี 2523 ทำให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์แล้วว่า จะไม่มีการลงทุนซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆ หากยังไม่มีการเจรจาตกลงกันเกี่นวกับมาตรฐานกลาง รวมทั้งแนวความคิดที่จะซื้ออุปกรณ์ที่รองรับได้ทั้งสองเทคโนโลยี หรืออาจเลือกที่จะยังคงใช้เทคโนโลยี DVD ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน


*****

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น